วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา


สวัสดีค่ะ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน

หวังว่าทุกท่านคงสบายดีนะคะ  นี่ก็นานพอสมควรที่ไม่ได้เจอกัน  พบกันคราวนี้ก็มีภาพสวย ๆ  มาฝากเช่นเคยจ๊ะ  เมื่อวันที่ ๑๙ มีนา ศกนี้ ฉันและสามีได้มีโอกาสไปทำบุญและชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่พระนครศรีอยุธยา  โดยมีน้องสาวเป็นสารถีและเป็นไกด์ให้ด้วย เธอรู้จักที่นั่นดีเพราะเคยทำงานอยู่ในเมืองนั้นหลายปี  วัดศรีสรรเพชญ์เป็นวัดโบราณที่น่าสนใจมากวัดหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติ 

วัดศรีสรรเพชญ์  ตั้งอยู่ที่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่ง ได้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  ใช้เป็นที่ประทับ  เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา  วัดนี้เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๕  รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลาง  เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระเชษฐา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓

หลังจากนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๔๒  พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้น  และในปี ๒๐๔๓ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ทรงสร้างพระวิหารและทรงหล่อพระพุทธรูปยืน ขนาดสูง ๘ วา (ประมาณ ๑๖ เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (ประมาณ ๑๗๑  กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในพระวิหาร ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่า พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ถูกพม่าเผา แล้วลอกเอาทองคำไปหมด องค์พระพุทธรูปพินาศยับเยิน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงโปรดให้ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพน และบรรจุชิ้นส่วนซึ่งไม่สามารถบูรณะได้เหล่านั้น ไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น แล้วพระราชทานชื่อพระเจดีย์ว่า  เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ  เจดีย์องค์ที่ ๓ ถัดมาจากด้านทิศตะวันตก เป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น  เจดีย์ทั้งสามองค์นี้มีลักษณะเป็นเจดีย์แบบลังกา

ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้ง "พระที่นั่งจอมทอง"  ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กำแพงทางด้านติดกับ วิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์ บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์  ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงแห่งนี้เป็นครั้งแรก  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้เป็นผู้ดำเนินการขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์  พบพระพุทธรูป และเครื่องทองมากมาย  จากนั้นก็ได้มีการบูรณะครั้งหลังสุดในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

อ้างอิง...จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


 เจดีย์ทั้งสามในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์
   
 วิหารพระมงคลบพิตร

 พระมงคลบพิตร
 สถานที่ภายในพระราชวังหลวง

 สถานที่พระราชวังโบราณ
 ดอกเฟื้องฟ้าบานสะพรั่ง
                                                              ........................................





















วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นมัสการหลวงพ่อพุทธชินราช จ.พิษณุโลก


สวัสดีค่ะ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ไม่ได้พบกันที่บล็อกนี้นานทีเดียวนะคะ  วันนี้พบกันอีก  ก็มีเรื่องน่าสนใจสำหรับท่านผู้ชอบท่องเที่ยวแสวงบุญไปตามวัดต่าง ๆ ในเมืองไทย  ฉันเองก็ชอบเที่ยวตามวัดเช่นกันค่ะ แล้วก็อดที่จะนำอะไร สวย ๆ งาม ๆ มาฝากท่านผู้อ่านไม่ได้.....ก่อนอื่นฉันต้องขอขอบคุณทุกท่านมาก ๆ  ที่แวะเข้ามาชมบล็อกนี้บ่อย ๆ   ยังไง ๆ  ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันเน้อ !!

วันนี้ก็จะขอนำท่านผู้อ่านไปชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่  จ.พิษณุโลก  ฉันเองเป็นคนเมืองพิษณุโลก เป็นลูกหลานหลวงพ่อใหญ่  ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เคยห่างหลวงพ่อใหญ่  บูชาท่านมาตลอด  ปีนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน ก็ได้ไปกราบหลวงพ่อใหญ่ด้วย  วันนั้นที่ไปก็มีรายการพิเศษที่บริเวณหน้าวัด  มีการแสดงรำถวายหลวงพ่อใหญ่  ในพระวิหารมีผู้คนเยอะมากจนแทบไม่มีที่นั่งกราบพระ  ถึงกับต้องรออยู่ที่หน้าประตู จนกว่าผู้คนจะเบาบางลง  เห็นแล้วปลื้มใจที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสหลั่งไหลกันไปทำบุญทำทาน นอกจากจะมีคนไทยไปทำบุญกันมากมายแล้ว  ยังมีชาวต่างชาติมากันเป็นรถบัส  ปัจจุบันนี้วัดต่าง ๆ ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เพราะสถานที่เที่ยวตามวัดแต่ละวัด  มีสิ่งก่อสร้างและพระพุทธรูปสวยงามน่าชมน่าสนใจแปลกแตกต่างกัน  วัดจึงเป็นสถานที่ท่องเทียวที่น่าสนใจเป็นพิเศษและยังได้สร้างกุศลด้วย

ประวัติย่อเกี่ยวกับพระพุทธชินราช (พิษณุโลก) ชื่อสามัญที่นิยมเรียกทั่ว ๆ ไป ว่า "หลวงพ่อใหญ่" เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และเป็นพระพุทธรูป ที่ได้รับการยกย่องว่า  สวยงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปทั้งหลายในประเทศไทย  พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) กษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๓ องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราช  สันนิษฐานว่าได้ฤกษ์เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ศักราช ๗๑๗ (พ.ศ.๑๘๙๘) เมื่อได้เททองหล่อเสร็จและแกะพิมพ์ออก ปรากฏว่าพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา มีองค์สวยงามสมบูรณ์ แต่พระพุทธชินราชนั้นแผ่นทองไม่ติดเต็มองค์ จึงต้องมีการหล่อใหม่อีกถึง ๓ ครั้ง ถึงกระนั้นก็ยังไม่สำเร็จ  พระมหาธรรมราชที่ ๑ จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงพระบารมีของพระองค์ เป็นเหตุให้พระอินทร์ร้อนอาสน์ จึงได้เนรมิตเป็นตาปะขาวลงมาช่วยสร้างพระพุทธชินราช คุมพิมพ์และปั้นเบ้าเอง ด้วยอานุภาพแห่งพระอินทร์จอมเทพ พอลงมือเททอง ๆ ก็แล่นจับองค์พระเสร็จสมบูรณ์ด้วยดี และสวยงามหาที่ตำหนิมิได้เลย  เมื่อเสร็จกิจแล้ว ตาปะขาก็หายตัวไปอย่างลึกลับ หมู่บ้านที่ตาปะขาหายตัวไปนั้น ภายหลังต่อมาได้ชื่อว่า "บ้านตาปะขาวหายและวัดตาปะขาวหาย" จนทุกวันนี้ และห่างจากวัดขึ้นไปทางทิศเหนือราว ๘๐๐ เมตร เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ จึงได้สร้างศาลาไว้เป็นที่ระลึก ณ ที่บริเวณนั้น เรียกกันว่า "ศาลาช่อฟ้า" จนถึงปัจจุบันนี้

ลักษณะพิเศษของพระพุทธชินราช  องค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย  พระโขนงโก่ง  พระเนตรประดุจตากวาง  พระนาสิกโด่ง  ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน  อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย  ด้านซ้ายและขวาขององค์พระพุทธชินราชมียักษ์ ๒ ตน  คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่สองข้างด้วย มีซุ้มเรือนแก้วลักษณะเป็นตัวเหรา ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะที่สวยงามมาก  คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา  พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลักษณะ ๙ ห้อง ซึ่งได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
 กลุ่มนักศึกษาจากภาคอีสานรำถวายหลวงพ่อ
 ในพระวิหารหลวงพ่อพุทธชินราช


 อีกมุมหนึ่งในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานขององค์กษัตริย์ในสมัยสุโขทัย
 พระพุทธรูปประดิษฐานด้านขวาของพระวิหาร



ด้านหลังพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระโสฬส

เป็นยังไงบ้างคะ....ได้ชมวัดหลวงพ่อพุทธชินราชแล้ว รู้สึกประทับใจมั้ยคะ  น่าภูมิใจมาก ๆ ที่บ้านเมืองเรามีวัดวาอารามงดงามมากมาย  สำหรับเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย......สำหรับบทความนี้ก็คงจะต้องขอยุติไว้แค่นี้จ๊ะ.......แล้วพบกันอีกนะคะ

                                                               .........................................