สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ไม่ได้พบกันที่บล็อกนี้นานทีเดียวนะคะ วันนี้พบกันอีก ก็มีเรื่องน่าสนใจสำหรับท่านผู้ชอบท่องเที่ยวแสวงบุญไปตามวัดต่าง ๆ ในเมืองไทย ฉันเองก็ชอบเที่ยวตามวัดเช่นกันค่ะ แล้วก็อดที่จะนำอะไร สวย ๆ งาม ๆ มาฝากท่านผู้อ่านไม่ได้.....ก่อนอื่นฉันต้องขอขอบคุณทุกท่านมาก ๆ ที่แวะเข้ามาชมบล็อกนี้บ่อย ๆ ยังไง ๆ ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันเน้อ !!
วันนี้ก็จะขอนำท่านผู้อ่านไปชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก ฉันเองเป็นคนเมืองพิษณุโลก เป็นลูกหลานหลวงพ่อใหญ่ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เคยห่างหลวงพ่อใหญ่ บูชาท่านมาตลอด ปีนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน ก็ได้ไปกราบหลวงพ่อใหญ่ด้วย วันนั้นที่ไปก็มีรายการพิเศษที่บริเวณหน้าวัด มีการแสดงรำถวายหลวงพ่อใหญ่ ในพระวิหารมีผู้คนเยอะมากจนแทบไม่มีที่นั่งกราบพระ ถึงกับต้องรออยู่ที่หน้าประตู จนกว่าผู้คนจะเบาบางลง เห็นแล้วปลื้มใจที่มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสหลั่งไหลกันไปทำบุญทำทาน นอกจากจะมีคนไทยไปทำบุญกันมากมายแล้ว ยังมีชาวต่างชาติมากันเป็นรถบัส ปัจจุบันนี้วัดต่าง ๆ ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เพราะสถานที่เที่ยวตามวัดแต่ละวัด มีสิ่งก่อสร้างและพระพุทธรูปสวยงามน่าชมน่าสนใจแปลกแตกต่างกัน วัดจึงเป็นสถานที่ท่องเทียวที่น่าสนใจเป็นพิเศษและยังได้สร้างกุศลด้วย
ประวัติย่อเกี่ยวกับพระพุทธชินราช (พิษณุโลก) ชื่อสามัญที่นิยมเรียกทั่ว ๆ ไป ว่า "หลวงพ่อใหญ่" เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และเป็นพระพุทธรูป ที่ได้รับการยกย่องว่า สวยงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปทั้งหลายในประเทศไทย พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) กษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๓ องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราช สันนิษฐานว่าได้ฤกษ์เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ศักราช ๗๑๗ (พ.ศ.๑๘๙๘) เมื่อได้เททองหล่อเสร็จและแกะพิมพ์ออก ปรากฏว่าพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา มีองค์สวยงามสมบูรณ์ แต่พระพุทธชินราชนั้นแผ่นทองไม่ติดเต็มองค์ จึงต้องมีการหล่อใหม่อีกถึง ๓ ครั้ง ถึงกระนั้นก็ยังไม่สำเร็จ พระมหาธรรมราชที่ ๑ จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงพระบารมีของพระองค์ เป็นเหตุให้พระอินทร์ร้อนอาสน์ จึงได้เนรมิตเป็นตาปะขาวลงมาช่วยสร้างพระพุทธชินราช คุมพิมพ์และปั้นเบ้าเอง ด้วยอานุภาพแห่งพระอินทร์จอมเทพ พอลงมือเททอง ๆ ก็แล่นจับองค์พระเสร็จสมบูรณ์ด้วยดี และสวยงามหาที่ตำหนิมิได้เลย เมื่อเสร็จกิจแล้ว ตาปะขาก็หายตัวไปอย่างลึกลับ หมู่บ้านที่ตาปะขาหายตัวไปนั้น ภายหลังต่อมาได้ชื่อว่า "บ้านตาปะขาวหายและวัดตาปะขาวหาย" จนทุกวันนี้ และห่างจากวัดขึ้นไปทางทิศเหนือราว ๘๐๐ เมตร เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ จึงได้สร้างศาลาไว้เป็นที่ระลึก ณ ที่บริเวณนั้น เรียกกันว่า "ศาลาช่อฟ้า" จนถึงปัจจุบันนี้
ลักษณะพิเศษของพระพุทธชินราช องค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระโขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระพุทธชินราชมียักษ์ ๒ ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่สองข้างด้วย มีซุ้มเรือนแก้วลักษณะเป็นตัวเหรา ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะที่สวยงามมาก คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลักษณะ ๙ ห้อง ซึ่งได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
อีกมุมหนึ่งในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานขององค์กษัตริย์ในสมัยสุโขทัย |
พระพุทธรูปประดิษฐานด้านขวาของพระวิหาร |
ด้านหลังพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระโสฬส |
เป็นยังไงบ้างคะ....ได้ชมวัดหลวงพ่อพุทธชินราชแล้ว รู้สึกประทับใจมั้ยคะ น่าภูมิใจมาก ๆ ที่บ้านเมืองเรามีวัดวาอารามงดงามมากมาย สำหรับเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย......สำหรับบทความนี้ก็คงจะต้องขอยุติไว้แค่นี้จ๊ะ.......แล้วพบกันอีกนะคะ
.........................................