วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด


สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
 ขอขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ที่ได้ติดตามอ่านบทความในบล็อกนี้มาโดยตลอด....วันนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลา ฉันก็จะขอเล่าต่อเลยนะคะ คือต่อจากตอนที่แล้ว เราได้ไปนมัสการพระธาตุเจดีย์วัดจอมทอง หลังจากนั้นแล้ว เราก็ได้ไปนมัสการพระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด วัดโพธารามมหาวิหาร วัดนี้เป็นวัดหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เดิมชื่อว่า "วัดเจดีย์เจ็ดยอด" หรือ "วัดเจ็ดยอด" ตั้งอยู่ที่ ต.ช้างเผือก อ.เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ประวัติย่อวัดโพธารามมหาวิหาร

เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ พระเจ้าติโลกราช กษัติย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น ลักษณะเหมือนเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เจดีย์เป็นทรงยอดสิงขร....ในปี พ.ศ.๒๐๒๐ วัดโพธารามมหาวิหาร ได้เป็นสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ในอาณาจักรล้านนา กล่าวคือ ได้เป็นสถานสำหรับกระทำการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ ๘ ซึ่งได้มีการกระทำสังคยานามาแล้ว ในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา รวม ๗ ครั้ง การทำสังคยานาที่วัดโพธารามมหาวิหารนี้ นับเป็นครั้งแรกในปะเทศไทย โดยพระเจ้าติโลกราชได้ทรงโปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระ ทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา แล้วได้ทรงคัดเลือกพระธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เชี่ยวชาญและแตกฉานในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าตโลกราชได้ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ในการกระทำการสังคยานาครั้งนี้

ตามความเชื่อของชาวล้านนา ซึ่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ เชื่อกันว่า พระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร) เป็นพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิด ของคนเกิดปีมะเส็ง (งูเล็ก) ถ้าได้ไปนมัสการก็จะเป็นมงคลแก่ชีวิต

คำบูชาพระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด

ตั้งนะโม ๓ จบ.....ปะฐะมัง  โพธิปัลลังกัง  ทุติยังอะนิมิสสะกัง  ตะติยัง  จังกะมะเสฏฐัง จะตุตถะกัง  ระตะนะฆะรังปัญจะมัง  อะชะปาละนิโคธังฉัฏฐัง ราชายะ ตะนังสัตตะมัง  มุจจะลิทัง อะหัง  วันทามิ  ทุระโต




พระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด


พระประธานประดิษฐานในพระมหาวิหาร
พระวิหารของวัดโพธาราม มหาวิหาร
ด้านข้านของพระวิหาร
พระธาตุเจดีย์เจ็ดยอด





































วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุศรีจอมทอง

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

คราวที่แล้วเราก็ได้ไปเที่ยวชมวัดและได้ทำบุญที่วัดพระพุทธบาทตากผ้าตามศรัทธา....วันรุ่งขึ้นเป็นวันอังคารที่ ๑๓ มีนา พวกเราได้ตื่นรับประทานอาหารเช้าแต่เช้า เพื่อที่จะได้ออกเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ซึ่งอยู่ที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ ๕๘ กม. การเดินทางเช้านี้สะดวกสบาย การจราจรดีรถไม่ติด จึงถึงวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหารแต่เช้า ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ศรัทธาไปจากที่อื่นมากมาย สังเกตเห็นได้จากรถบัสโดยสาร จอดอยู่บริเวณข้างวัดมีหลายคัน และรถส่วนตัวก็เช่นกัน แสดงว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีคนศรัทธามากวัดหนึ่งของเชียงใหม่ มีคนมาทำบุญกันไม่ขาดสาย ที่วัดมีองค์พระธาตุเจดีย์สวยงามมาก นอกจากนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกมากมาย

เมื่อพวกเราเข้าไปถึงบริเวณวัด สิ่งที่จะต้องกระทำกันเป็นอันดับแรกจนเป็นที่รู้กันก็คือ ต้องรีบรี่ตรงไปที่ร้านขายดอกไม้ธูปเทียน พอซื้อดอกไม้ธูปเทียนเสร็จ ก็รีบรี่ไปที่องค์พระธาตุเจดีย์ แล้วก็นั่งคุกเข่าพนมมือพร้อมดอกไม้ธูปเทียน ตั้งใจสวดพระคาถาบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ พอสวดพระคาเสร็จแล้ว ก็เดินเวียนเทียน ๓ รอบ เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จากนั้นก็จะแยกย้ายกันไปทำบุญทำทานตามแต่ศรัทธา เสร็จแล้วก็เดินชมบริเวณวัดและถ่ายรูปสวย ๆ งาม ๆ ตามชอบใจ ก็เลือกมุมเลือกสถานที่สวย ๆ ทุกสถานที่ในวัดนี้สวยงามไปหมด ๆ บริเวณวัดสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยดี  ฉันมีรูปมาฝากท่านผู้อ่านด้วยจ๊ะ

ความรู้เกี่ยวกับวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร (สังเขป)
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕๘ กิโลเมตร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ ๑๐ เมตร เรียกกันตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ ๒๐ แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรมในสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

พระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือนดอกบวบ หรือสีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทองตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๘ ....ปัจจุบันพระธาตุถูกบรรจุไว้ในพระโกศ ๕ ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสคล้ายพระเจดีย์ กว้าง ๔ ม. สูง ๘ ม. ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัตตาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๐...... วัดนี้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ และปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นวัดตัวอย่างของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นวัดนี้ยังมีสำนักวิปัสสนากรรมฐาน มีพระธรรมมังคลาจารย์ (ทอง สิริมังคโล) เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน

ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา พระธาตุศรีจอมทองเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวด

องค์พระธาตุศรีจอมทอง



















วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เยี่ยมชมวัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

วันนี้ก็ขอเชิญทุกท่านติดตามการทัวร์บุญกันต่อนะคะ เป็นการทัวร์บุญในภาพเหนือ ไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ ตามโปรแกรมที่เราได้กำหนด วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนา เราได้ไปนมัสการพระธาตุเจดีย์หริภุญชัย จ.ลำพูน เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ฉันนึกได้ว่าในจังหวัดลำพูนนี้ มีวัดที่สำคัญที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่งชื่อ "วัดพระพุทธบาทตากผ้า"  ซึ่งหลวงพ่อสิงห์ทน นราสโภ ท่านเคยบอกฉันว่า ท่านมักจะพักประจำอยู่ที่นั้น ฉันเคยนิมนต์ท่านไปที่บ้านหลายครั้ง (ทำบุญถวายเพล) เมื่อครั้งที่ท่านไปโปรดญาติโยมที่สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงคิดว่า เราน่าจะได้หาโอกาสไปแวะเยี่ยมเยือนและนมัสการท่านบ้าง ไม่ได้ทำบุญกับท่านหลายปีแล้ว เป็นอันว่าเราตกลงไปวัดพระพุทธบาทตากผ้ากัน ซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกาเศษ ๆ พระอาทิตย์เริ่มจะคล้อยลับขอบฟ้าแล้ว ด้วยแรงศรัทธาจึงพากันไปถึงวัดจนได้ ถึงแม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้อยู่ในโปรแกรมที่เรากำหนด แต่รายการของเรายืดหยุ่นได้เสมอ

เมื่อไปถึงวัด เราก็รีบไปนมัสการรอยพระพุทธบาทในพระมหาวิหารทันที เพราะเวลาจำกัดมาก เนื่องจากว่าเราจะต้องเดินทางไปพักค้างคืนที่เชียงใหม่ ต้องนั่งรถไปอีกไกลทีเดียว จึงต้องเร่งทำเวลาหน่อย รีบถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ  ช่วงเวลานั้นที่วัดเงียบมาก ไม่มีผู้คน เพราะว่าเป็นเวลาเย็นพระสงฆ์ก็คงจะเตรียมทำวัดเย็นกัน  ระหว่างที่เรากำลังเดินชมบริเวณวัดและถ่ายรูปกันอยู่นั้น ได้มีพระคุณเจ้ารูปหนึ่งมายืนดูพวกเราอยู่ห่าง  เราก็พากันรีบเข้าไปนมัสการท่าน แล้วถามถึงหลวงพ่อสิงห์ทน ท่านตอบว่าหลวงพ่อสิงห์ทนไม่ได้อยู่ที่วัดนี้นานแล้ว ไม่ทราบว่าท่านไปอยู่ที่ไหนไม่เคยได้ข่าวอีกเลย  หลังจากที่ท่านได้บูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้าเสร็จแล้ว ท่านก็คงไปอยู่ที่วัดอื่น

พระคุณเจ้าได้เชิญพวกเราไปนมัสการองค์เหมือนของพระครูบาศรีวิชัย ในสถานที่เฉพาะของท่านและพวกเราก็ได้กราบนมัสการและชมบารมีพระธาตุของหลวงปู่ครูบาด้วย และในโอกาสนั้นเอง ฉันก็ได้ถวายพระธาตุและธาตุกายสิทธิ์ (เสด็จมาเองที่บ้าน) ที่นำติดตัวไปแด่พระคุณเจ้า ประดิษฐานไว้ที่วัด เพื่อให้ญาติโยมที่ไปวัดได้นมัสการและชมบารมีพระธาตุด้วย

วัดนี้มีสถานที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะพระเจดีย์องค์ทองคำเหลืองอร่ามงามสง่าตั้งอยู่บนภูเขาด้านหลังของวัด น่าดูมากเลย แต่ว่าเรามีเวลาน้อยมากเลยไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปข้างบน คงจะเป็นเพราะเหตุปัจจัยยังไม่พร้อมที่จะได้ขึ้นไปมั้ง  แต่เราก็ยังโชคดีที่ได้นมัสการรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ถึงกับเสียเที่ยวที่ได้ไปวัดพระพุทธบาทตากผ้าในครั้งนี้ ฉันได้รวบรวมภาพสวย ๆ มาฝากท่านผู้อ่านด้วยจ๊ะ

ความรู้เกี่ยวกับวัดพระพุทธบาทตากผ้า

องค์เหมือนหลวงปู่ครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักสังวร ผู้ก่อตั้งวัด
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตั้งอยู่ที่ ต.มะกอก อ.ป่าซาง ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ ๒๒ กม.....มีตำนานเล่ากันว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวก ได้เสด็จมาจาริกสั่งสอนไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาถึงสถานที่แห่งนี้ ได้รับสั่งให้พระอานนท์นำจีวรของพระองค์ ไปซักแล้วตากไว้ในบริเวณผาลาดใกล้ ๆ บริเวณที่ประทับ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้  จากนั้นจึงทรงอธิษฐานจิต เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนลานผาลาด ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน และบนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสาน จากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาค ๔๖๙ ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชียงดอย ปัจจุบันสามารถนำรถขึ้นไปได้ เมื่อถึงวันแรม ๘ คำ เดือน ๘เหนือ ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประเพณีทุก ๆ ปี

องค์เหมือนหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย
คำสอนของหลวงปู่ครูบาศรีวิชัย

ด้านหน้าประตูเข้าวัดพระพุทธบาทตากผ้า
อีกมุมหนึ่งของวัดพระพุทธบาทตากผ้ายามเย็น
พระวิหารจตุรมุขประดับลวดลายปูนปั้้น เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘ ซม.ประดิษฐานอยู่ในซุ้มปราสาทและมีรอยพระพุทบาทอยู่ภายใน

รอยพระพุทธบาทมีสองรอย รอยใหญ่กว้าง ๑ ม. ยาว ๒ ม. รอยเล็กว้าง ๐.๕ ม. ยาว ๑ ม.





















วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุเจดีย์หริภุญชัย

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

วันนี้ก็ได้ฤกษ์ที่จะนำท่านผู้อ่านไปร่วมนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่ภาคเหนือของประเทศไทยบ้างนะคะ......
วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนา พวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปภาคเหนือ คราวนี้เราไม่ได้เช่ารถตู้ เพราะว่าน้องสาวตั้งใจจะเอารถส่วนตัวไป น้องเขยฉันก็ตั้งใจ จะเป็นโชเฟอร์ขับรถ พาพวกเราเที่ยวแบบสบาย ๆ เป็นกันเอง อยากจะแวะที่ไหนก็ได้ตามอัธยาสัย เราเริ่มออกเดินทางจากปทุมธานีประมาณ ๙ โมงเช้า ขับแบบสบาย ๆ แวะรับประทานอาหารและเข้าห้องสุขากันบ้าง กว่าจะถึงลำพูนก็เป็นเวลาบ่าย ๔  โมงเศษ ๆ วัดแห่งแรกที่เราได้เข้าไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ก็คือ วัดพระธาตุหริภุญชัย พอไปถึงก็เร่งรีบถ่ายรูปกันยกใหญ่เลย วัดนี้มีสิ่งก่อสร้างสวยงามหลายอย่าง น่าสนใจมาก องค์พระธาตุเจดีย์มีลักษณะกลมเป็นทองเหลืองอร่ามทั้งองค์  พวกเราได้สวดมนต์ถวายพระเจดีย์ เดินเวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ๓ รอบ เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาและสังฆบูชา เสร็จแล้วก็ทำบุญทำทานตามตู้ต่าง ๆ  แล้วแต่ศรัทธา
.......ไปที่วัดไหน ๆ เราก็จะไม่ลืมเขียนชื่อนามสกุล ติดไว้ที่ผ้าคลุมองค์พระเจดีย์ ซึ่งที่วัดแต่ละแห่จะมีเตรียมไว้เปลี่ยนทุกปี จะมีการเขียนชื่อผู้ที่ไปทำบุญ ลงบนผืนผ้า โดยให้ญาติโยมเขียนกันเอง ไปวัดไหนก็เขียนกันทุกครั้งไม่ยอมสละสิทธิ์ ไหน ๆ มาทั้งที


ความรู้เกี่ยวกับวัดพระธาตุหริภุญชัย
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จ.ลำพูน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวล้านนาไทย เพราะว่าวัดนี้มีความสำคัญมากที่สุดของ จ.ลำพูน....ชื่อของวัดนี้มาจากชื่อเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพุทธกาล ได้แวะรับและฉันลูกสมอที่ชาวลั๊วนำมาถวาย ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า "หริภุญชัย

วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ท้้งหมด ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองหริภุญชัย เรื่อยมาจนกระทั่งมาเป็น จ.ลำพูนในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีประเพณีโบราณที่ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปีแล้ว....มีผู้กล่าวกันว่า ถ้าใครมาถึงลำพูน แต่ยังไม่ได้ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ถือว่ายังมาไม่ถึงลำพูน...

ประวัติย่อ....พระอาทิตยราชเป็นผู้สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อสำหรับประดิษฐ์พระบรมสารีริกธาตุ อันมีธาตุส่วนกระหม่อม พระธาตุส่วนกระดูกอก พระธาตุส่วนกระดูกนิ้วมือและพระธาตุส่วนย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง  ตามพุทธทำนายลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่ามีลักษณะเป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวารเข้า-ออกทะลุกันได้ทั้ง ๔ ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐานพระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพญาสรรสิทธิ์กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ ได้ทรงโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิม ที่พญาอาทิตยราชได้ทรงสร้างไว้ และได้ขุดช่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้ง ๔ ด้าน เพื่อความปลอดภัย ส่วนรูปทรงสัญฐานขององค์พระบรมธาตุนั้นคงไว้เช่นเดิม....เมื่อพญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้แล้ว ได้โปรดให้มีการซ่อมแซมและดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ เป็นทรงแบบลังกา  ในสมัยพระเจ้าแสนเมือง ราว พ.ศ. ๑๙๕๑ ได้โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ...พ.ศ.๑๙๙๐ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์สำคัญ แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ต่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเห็น ๙๒ ศอก กว้างยาว ๕๒ ศอก ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้


บริเวณรอบนอกองค์พระธาตุเจดีย์
ด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย
พระประธานในพระอุโบสถ
หลวงพ่อทันใจ

ความงามอีกมุมหนึ่งของพระธาตุหริภุญชัย








วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุพนม

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ฉันได้พาท่านผู้อ่านไปชมวัดพระธาตุถึง ๓ วัดแล้ว ท่านเห็นภาพพระเจดีย์สวย ๆ แล้ว ก็คงจะรู้สึกโสมนัสยินดีเช่นกันนะคะ  ขณะนั้นจิตเป็นกุศลจิต.....คราวนี้ฉันก็จะพาท่านไปนมัสการและชมภาพพระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุที่สวยมาก ๆ สวยกว่าพระธาตุเจดีย์อื่น ๆ ที่เคยเห็นมา

ในวันเดียวกันนั้น หลังจากที่เราได้ไปนมัสการพระธาตุท่าอุเทนเสร็จแล้ว  ก็ได้เดินทางต่อไปยังอำเภอเรณูนคร เพื่อจะไปนมัสการพระธาตุเรณูนคร แต่ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวันไปแล้ว เรารู้สึกว่าท้องร้องหิวตาม ๆ กัน จึงบอกให้คนขับรถพาไปหาร้านอาหารที่อร่อย ๆ  รับประทานกันก่อน แล้วจึงค่อยไปนมัสการพระธาตุเรณูนคร  คนขับรถเสนอแนะว่า ที่เรณูนครมีขนมจีนทำสด ๆ มีชื่อมาก ใครมาเรณูนครแล้วไม่ได้กินขนมจีนสด ก็แสดงว่ายังไม่ถึงเรณูนคร  พอได้ยินว่าขนมจีนอร่อย เราก็เกิดกิเลสอยากจะชิมลิ้มรสตาม ๆ กัน วาดมโนภาพซะสวยหรู คงจะอร่อยเหาะเลยซินะ เป็นอันว่าเราตกลงกันเป็นเอกฉันท์ ว่าอาหารมื้อนี้คือขนมจีนน้ำยา คนขับรถเองก็ยังไม่เคยกินหรอกนะ แกสารภาพว่า แกได้ยินเขาเล่าให้ฟังมาอีกต่อหนึ่ง  เข้าทำนองคำโบราณว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น"  เพราะฉะนั้นต้องไปพิสูจน์ด้วยตนเอง ฉันและน้องสาวต่างก็ตื่นเต้นและดีใจจนน้ำลายไหล คิดว่าวันนี้คงจะมีวิบากทางลิ้นดี  คนขับรถก็ขับเข้าซอยนี้ออกซอยโน้น วนแล้ววนอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังไม่พบร้านขนมจีนสด ชักจะหายอยากกันซะแล้ว คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ชิมลิ้มรสขนมจีนเรณูนครแน่ ๆ เลย  คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคนขับรถเจอร้านขนมจีนสดจนได้  ที่ไหนได้ขับผ่านไปตั้งสองรอบ แต่มองไม่เห็น พอรถจอดข้างถนนตรงข้ามหน้าร้านเสร็จเรียบร้อย  เราก็รีบรี่เข้าไปในร้านทันที  พอเข้าไปถึงก็ตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะว่าที่คิดมโนภาพไว้อย่างสวยหรูนั้นน่ะ  มันคนละเรื่องเลยจ๊ะ เห็นเขายืนนวดยืนบีบยืนจับเส้นขนมจีนสด ๆ กันอย่างสนุกสนาน ก็น่าชมดีหรอก  เพราะไม่เหมือนใคร ในร้านมีโต๊ะและม้านั่งให้นั่งกันแบบลูกทุ่ง คือนั่งแบบสบาย ๆ บนโต๊ะก็มีถ้วยน้ำยาขนมจีนหลายชนิด ให้เลือกได้ตามชอบใจ  เราถามเขาว่ามีน้ำยาอะไรบ้าง เขาบอกว่ามีน้ำยากะปิ และก็น้ำยาอะไรอีกหลายอย่าง ฉันก็จำไม่ได้แล้ว เพราะว่าได้ยินชื่อน้ำยากะปิก็หายหิวแล้ว  ไม่มีน้ำยาที่เรารู้จักสักชนิด เป็นอันว่างานนี้ผิดหวังอย่างแรง  ต้องเปลี่ยนรายการใหม่ ให้คนขับรถหาร้านอาหารแบบไทย ๆ ที่อยู่แถว ๆ หน้าแม่น้ำโขง แถวหน้าแม่น้ำโขงมีร้านอาหารให้เลือกเยอะแยะไปหมด ไม่ทราบจะเลือกร้านไหนดี ปรกติเราจะสังเกตว่าร้านไหนอร่อยจะต้องมีรถจอดหน้าร้านเยอะมาก  แต่คราวนี้ข้อสังเกตอันนี้ใช้ไม่ได้ซะแล้ว ก็ใช้วิธีเสี่ยงดวงก็แล้วกัน เราสั่งอาหารที่ทำไม่ยากจะได้อร่อยถูกใจทุกคน เช่น ต้มยำกุ้ง ปลาเนื้ออ่อนทอด ไข่เจียวหมูสับ แค่นี้ก็อร่อยเหาะแล้ว เมนูนี้ใครจะจำเอาไปใช้ก็ได้ ไม่หวงหรอกจ๊ะ

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ก็เป็นเวลาเกือบบ่าย ๒ โมง  เรามัวแต่เสียเวลากับการหาสถานที่กิน เลยทำให้เวลาสำหรับที่จะไปนมัสการพระธาตุเรณูนครหายไป  รายการนมัสการพระธาตุเรณูนครนี้ ที่จริงแล้วเป็นรายการแถม เพราะว่าคนขับรถแนะนำให้ และว่าจะพาไปที่นั่นถ้ามีเวลา ในที่สุดเราก็ไม่มีเวลา ก็เพราะขนมจีนเป็นเหตุ  จากนั้นเราก็มุ่งหน้าสู่อำเภอพระธาตุพนมโดยด่วน เพราะว่าตามโปรแกรมของเรา หลังจากไปนมัสการพระธาตุพนมเสร็จแล้ว  เราจะต้องเดินทางต่อไป จ.มุกดาหาร แล้วพักค้างคืนที่นั่น ๑ คืน เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับปทุมธานีในวันรุ่งขึ้น........กว่าเราจะถึงวัดพระธาตุพนมก็เป็นเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงกว่า ๆ  พอเข้าเขตบริเวณวัดพระธาตุพนม รู้สึกว่าพวกเราตาสว่างตาม ๆ กัน ตลึงในความวิจิตรพิมัยขององค์พระธาตุเจดีย์ ตกแต่ประดับประดาและมีลวดลายที่องค์พระธาตุงดงามน่าดูมาก  ดูภาพรวม ๆ ทั้งวัดเป็นสีทองเหลืองอร่ามดูสว่างไปทั้งวัด ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็สวยงามไปหมด วันนั้นผู้คนไทย คนลาวและสวิสอีก ๑ คน (สามีฉันเอง) ได้ทยอยกันไปนมัสการ และเวียนเทียนถวายพระธาตุกัน รอบนอกเขตพระธาตุเจดีย์มีของขายมากมาย  พวกเราคิดว่าเขาเพิ่งจะเริ่มงานนมัสการพระธาตุประจำปีในวันนั้น แต่ปรากฏว่าเป็นวันแรกที่เขาเลิกงาน อย่างไรก็ตามผู้คนก็ยังพากันมานมัสการมากขึ้น ๆ จนรู้สึกว่าจะเดินไม่ค่อยสะดวกนัก ท่านที่ยังไม่เคยไปก็เชิญชมรูปภาพไปก่อนนะคะ  เป็นการสร้างความศรัทธาก่อน เมื่อมีกำลังศรัทธาแรงกล้า สักวันก็จะต้องได้ไปเห็น และได้ไปนมัสการของจริงของแท้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน  ฉันเองก็ยังอยากจะไปอีกเลย ภาคอีสานเป็นภาคที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ สำหรับฉัน ได้ไปเห็นด้วยตนเองมาแล้ว รู้สึกประทับใจหลาย ๆ อย่าง การเดินทางก็สะดวก ถนนหนทางสายเอเซีย หรือสายทางหลวงสะดวกมาก บ้านเมืองเขาก็สะอาดและร่มรื่น ที่เรณูนครเป็นอำเภอที่ร่มรื่นและสวยงามมาก ตามถนนมีต้นไม้ให้ร่มเงาสองข้างทาง หน้าบ้านทุกบ้านมีถังขยะ ซึ่งทำจากยางลูกล้อรถยนต์เก่า ๆ  นำมาประดิษฐ์เป็นถังใส่ขยะมีฝาปิดเรียบร้อย ตั้งไว้หน้าบ้านก็ไม่น่าเกลียด ใครอยากรู้ก็ไปดูเองจะดีกว่านะ นี่เพียงแค่เห็นแบบผ่าน ๆ  ถ้ามีเวลามากก็คงจะประทับใจกว่านี้หลายเท่า.....ต่อไปนี้ก็ขอเชิญชมภาพสวย ๆจ๊ะ




องค์พระธาตุพนม

วัดพระธาตุพนม

ซุ้มประตูด้านหน้า

มุมพระธาตุพนมจำลองสำหรับไว้ปิดทอง

เดินเวียนเทียนถวายพระธาตุพนม
ประวัติย่อพระธาตุพนม...พระธาตุพนมเป็นพุทธเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุระของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ริมฝั่งแม่น้ำโขงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สูงจากระดับพื้นดิน ๕๗ เมตร ฉัตรเป็นทองคำบริสุทธิ์ หนัก ๑๖ กิโลกรัม มีเพชรประดับ ๒๐๐ เม็ด....

มีตำนานกล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่  มีพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ องค์ และเจ้าพญาทั้ง ๕ โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานการก่อสร้าง ในยุคแรกใช้อิฐดิบ ก่อขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุก ภายหลังสูง ๘ เมตร ได้มีการเสริมสร้างในยุคต่อมาโดยลำดับ คือ

ยุคโบราณ ก่อนประวัติศาสตร์ในราว พ.ศ.๕๐๐ บูรณะโดยพระอรหันต์ ๕ องค์ และพญาสุมิตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนคร การบูรณะยุคนี้ ใช้อิฐสุกก่อให้สูงขึ้นไปอีก สร้างประตูปิดและสร้างกำแพงรอบองค์พระธาตุ แล้วทำพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุใหม่ สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๔.๗๐ เมตร ในยุคนี้พระธาตุพนมสูงประมาณ ๒๔ เมตร

ยุคไทยล้านช้าง อุปถัมภ์ พ.ศ.๒๑๕๗ บูรณะโดยพระยาพิชิตราชธานีศรีโคตบูร แห่งเมืองศรีโคตบูรใหม่ ได้โบกสะทายตีนพระธาตุ และสร้างกำแพงรอบชั้นที่ ๒   ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ บูรณะโดยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระที่มีชื่อเสียงแห่งนครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยชาวเวียงจันทน จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ ครอบครัว ได้สร้างเสริมพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ จนถึงยอดซึ่งมีความสูง ๔๗ เมตร หุ้มยอดด้วยเหล็กเปียก ทองแดงและสำริด ตอนปลายสุดเป็นปมมีรู สำหรับปักฉัตร ส่วนฉัตรทำด้วยทองคำฝั่งพลอย และนิลหัวแหวนโดยรอบประมาณ ๓๐๐ เม็ด แกนดังฉัตรเป็นเหล็ก ก้านฉัตรเป็นเงินฝั่งพลอยทุกด้าน ในยุคนี้ พระธาตุพนมสูง ๔๓ เมตร ฉัตรสูง ๔ เมตร รวมเป็น ๔๗ เมตร

ยุคไทยสยาม อุปถัมภ์ พ.ศ.๒๔๔๔ พระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด) วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เป็นประธาน ได้บูรณะพระธาตุโดยได้โบกปูนใหม่ ลงรักปิดทอง ส่วนบนประดับแก้ว ติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองหุ้มยอด ปูลานพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นในและชั้นกลาง

         พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ กรมศิลปากรไทยได้สร้างเสริมครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไป ๑๐ เมตร ในยุคนี้พระธาตุสูง ๕๓ เมตร ฉัตรสูง ๔ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร

         พ.ศ.๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมได้พังทลายลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับวัตถุก่อสร้างซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเสียหายยับเยิน

        ในศกนี้ได้พบพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ในผอบแก้ว ซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ มีจำนวน ๘ องค์
   
        พ.ศ.๒๕๑๙ ได้สร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ โดยสร้างครอบฐานองค์เดิม รูปทรงคล้ายองค์เดิมทุกประการ แต่เล็กกว่าองค์เดิมเล็กน้อย ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๔ ปี จึงแล้วเสร็จบริบูรณ์

        วันที่ ๒๑-๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ รัฐบาลได้จัดราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุและยกฉัตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จมาบรรจุพระอุรังคธาตุ

        พระธาตุพนมองค์ใหม่หนักประมาณ ๒,๓๐๐ ตัน สร้างด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธในยุคปัจจุบัน สิ้นเงินในการก่อสร้างทั้งหมด ๑๔,๔๗๒,๙๕๗.๔๙ บาท งบประมาณแผ่นดิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

คำบูชาพระธาตุพนม
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ อุปริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ

คำไหว้ฉัตรทองคำ
สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 ....................................................................................................................................