สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ทุกท่านสบายดีมั้ยคะ นี่ก็ใกล้จะหมดปีมะโมง หรือ ปี พ.ศ.2555 แล้ว บางท่านก็อาจจะเตรียมตัวเตรียมใจที่จะไปทำบุญทำทานตักบาตรไหว้พระ เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว บางท่านก็ยังไม่ทราบจะทำอะไรดี หรือจะไปที่ไหนดีในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถ้ายังไม่ทราบว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี ฉันขอแนะนำสถานที่ที่น่าไปเที่ยวและไปทำบุญทำทานด้วย ก็คือไปเที่ยวตามวัดต่าง ๆ ได้ทั้งความเบิกบานใจ อิ่มใจ ได้ชมความสวยงามของพระพุทธรูปอันเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า ได้ชมความงามของวัดและปูชนียสถานภายในวัด แต่ละแห่งก็มีศิลปะและมีความวิจิตรพิสดารไม่เหมือนกัน ล้วนแต่น่าชมทั้งนั้น ตัวอย่าง เช่น ไปชมพระบรมธาตุไชยา ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในวัดพระธาตุไชยาราชวรวิหาร วันนี้ฉันก็จะขอแนะนำท่านไปรู้จักกับ "วัดพระธาตุไชยาราชวรวิหาร" จังหวัดสุราษฏร์ธานี บางท่านก็คงจะยังไม่เคยไปทางภาคใต้ ก็ชมรูปภาพกันก่อนนะคะ เมื่อโอกาสก็ไปชมของจริง
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 50 ถนนรักษ์นรกิจ หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอใชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี พระบรมธาตุไชยาเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุราษฏร์ธานี และเป็นหนึ่งในสามของโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพบูชาของภาคใต้ ได้แก่ พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฏร์ธานี, พระเจดีย์พระมหาธาตุวัดพระธาตุวรมหาวิหาร จ. นครศรีธรรมราช และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำคูหาภิมุข บริเวณวัดคูหาภิมุข จ.ยะลา
วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุไชยา โรงเรียนสงฆ์ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไชยา
ประวัติวัดพระบรมธาตุไชยา
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร สร้างเมื่อ พุทธศตวรรษที่ 13-14 ในสมัยศรีวิชัย มีโบสถ์หันไปทางทิศตะวันตก เป็นโบราณสถาน รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็ก 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคต ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่าง ๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้า ภาพเจดีย์พระบรมธาตุเป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัดสุราษฏร์ธานี และเป็นสัญลักษณ์ในธงประจำกองลูกเสือจังหวัดสุราษฏร์ธานี พระเจดีย์พระบรมธาตุมีความสูงจากฐานใต้ดินถึงยอด 24 เมตร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดเจดีย์ที่เดิมหักลงมาถึงคอระฆัง พระพุทธรูปทำด้วยศิลาสูง 104 เซ็นติเมตร ปางสมาธิประทับอยู่บนฐานบัว มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 11-12 แสดงถึงอิทธพลศิลปอินเดีย แบบราชวงศ์คุปตะ สกุลช่างสารนาถ ในพุทธศตวรรษที่ 14 ได้สร้างพระโพธิสัต์อวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี) สองกรสำริด ประติมากรรมในชวา (ประเทศอินโดนีเซีย) ภาคกลาง จารึกหลักที่ 23 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสกุลวงศ์ ของกษัตริย์แห่งศรีวิชัย (ไชยา) และราชวงศ์ไศเลนทรในชวาภาคกลาง ในพุทธศตวรรษที่ 15 ได้สร้างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสองกรศิลา ศิลปะจามพุทธ และในสมัยอยุธยาได้สร้างพระพุทธรูปศิลาทราย ศิลปะอยุธยา สกุลช่างไชยา
ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์