สวัดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
หวังว่าทุกท่านคงสบายดีนะคะ ช่วงนี้ที่สวิตเซอร์แลนด์อากาศหนาวมาก ๆ เลย มีหิมะตกทั่วประเทศ ปีนี้หิมะตกมากกว่าเมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา ที่บริเวณบ้านฉันหิมะท่วมสูงประมาณ ๓๐ ซ.ม. ต้นไม้ใหญ่น้อยต่างโดนหิมะปกคลุมขาวสว่างไปหมด ก็สวยไปอีกแบบ แต่วันนี้อากาศเล่นตลก ฝนตกหนักทั้งวันหลังจากที่มีหิมะตกทุกวันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์เต็ม หิมะเจอฝนก็ต้องแพ้ฝนอย่างแน่นอน ต้องละลายสลายตัวอย่างรวดเร็ว ความหนาวก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากที่หนาวเย็นมาก ๆ ก็กลายเป็นความหนาวชื้นเข้ามาแทน ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฏแห่งธรรมชาติ ถ้าเราเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีอากาศอย่างไรก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อชีวิต....เพื่อไม่ให้เสียเวลาของท่านผู้อ่าน ฉันก็จะขอเริ่มบทความเลยนะคะ
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่นครศรีธรรมราช ที่ฉันนำมาเล่าสู่ท่านฟังในวันนี้ ฉันเองก็เพิ่งเคยไปชมและได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ วัดนี้เป็นสถานที่เก่าแก่โบราณ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่ที่สำคัญและเป็นมิ่งขวัญของเมืองนครศรีธรรมราช รวมทั้งพุทธศานิกชนด้วย ชาวเมืองนครเรียกวัดนี้ว่า "วัดพระธาตุ" พระธาตุเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัด เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในพระธาตุเจดีย์เป็นที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ปัจจุบันได้รับการประกาศจดทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร พระธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีลักษณะที่เด่นคือยอดพระเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า องค์พระธาตุเจดีย์หุ้มด้วยทองรูปพรรณและของมีค่ามากมายทั้งองค์นั้น ได้มาจากความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีความแปลกเป็นพิเศษที่ไม่เหมือนใคร คือ มีเจดีย์องค์เล็ก ๆ เป็นบริวารองค์เล็ก ๆ เรียงรายล้อมรอบองค์พระเจดีย์ รวมทั้งหมด 149 องค์ เป็นเจดีย์ที่เหล่าลูกหลานของบรรพบุรุษได้สร้างไว้สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ เพื่อสำหรับบรรจุอัฐิของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และขออธิษฐานขอให้ญาติได้มาเกิดในพุทธศาสนาอีกในภาพหน้า นอกจากนั้นยังมีความแปลกอีกอย่าง คือ องค์พระธาตุเจดีย์นี้ไม่มีเงาทอดลงพื้น ไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบด้านใดก็ตาม นับเป็นความอัศจรรย์ซึ่งยังไม่มีผู้ใดให้เหตุผลได้
ที่วัดนี้มีพิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การนำผ้าขึ้นธาตุ หรือถวายแก่องค์พระธาตุ ตามตำนานความเชื่่อของคนสมัยก่อนว่า หากผู้ใดได้นำผ้าขึ้นธาตุและเดินเวียนประทักษิณ (๓ รอบ) ณ ลานประทักษิณ ก็จะเป็นเสมือนดังการเข้าสู่นิพพานกลาย ๆ ถ้าอธิษฐานจิตขอพร ก็จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนได้อธิษฐานไว้ ทุก ๆ ปี ในวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาจะมีงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งถือกันว่าเป็นงานบุญประจำปีของวัดนี้
ประวัตวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิด "วรมหาวิหาร" เป็นพุทธาวาสประจำเมือง ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา เป็นธุระของชาวเมือง เจ้าเมืองและคณะสงฆ์ตลอดทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปในภาคใต้ ได้ร่วมมือกันบำรุงรักษา เป็นวัดนิกายเถรวาท มีองค์พระประธานชื่อ
พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช
เมื่อ พ.ศ. 854 เจ้าชายทนทกุมาร และพระนางเหมชาลา และบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวศรีลังกาได้สร้างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช) พระเจดีย์องค์เดิม เป็นเจดีย์แบบศรีวิชัย คล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา.....พ.ศ.1093 พระเจ้าจันทรภาณุได้
สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นเจดีย์แบบศาญจิ.....พ.ศ.1770
พระเจ้าจันทรภาณุ ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำหรือโคว่ำ มีปล้องไฉน 52
ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉน หุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา(เท่ากับ 2 เมตร) 1 ศอก (เท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 กิโลกรัม) รอบพระมหาธาตุ มีเจดีย์ 158 องค์.....ในปี พ.ศ. 2155 และ พ.ศ. 2159
สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้มีการซ่อมแผ่นทองที่ปลียอดพระบรมธาตุ.....ปี พ.ศ. 2190 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราทอง ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการบูรณะสร้างใหม่.....ปี พ.ศ. 2275- 2301 lสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า.....พ.ศ. 2312 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ปฏสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตรต่ออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระธาตุ.....สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ได้บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป.....ในปี พ.ศ 2457 สมัยพระบทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยูหัว ได้ติดตั้งสายล่อฟ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์......ปี พ.ศ. 2515 . 2517 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ.....พ.ศ. 2530 ซ่อมแซมกลีบบัวทองคำที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2530
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำขึ้นประดิษฐานบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์....พ.ศ. 2537 - 2538 บรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น
50 ล้านบาท สิ้นทองคำ 141 บาท (มาตราชั่ง ตวง วัด ของไทย 1 บาท เท่ากับ 15.2 กรัม)......กรมศิลปากรได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479