วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุเจดีย์หริภุญชัย

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

วันนี้ก็ได้ฤกษ์ที่จะนำท่านผู้อ่านไปร่วมนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่ภาคเหนือของประเทศไทยบ้างนะคะ......
วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนา พวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปภาคเหนือ คราวนี้เราไม่ได้เช่ารถตู้ เพราะว่าน้องสาวตั้งใจจะเอารถส่วนตัวไป น้องเขยฉันก็ตั้งใจ จะเป็นโชเฟอร์ขับรถ พาพวกเราเที่ยวแบบสบาย ๆ เป็นกันเอง อยากจะแวะที่ไหนก็ได้ตามอัธยาสัย เราเริ่มออกเดินทางจากปทุมธานีประมาณ ๙ โมงเช้า ขับแบบสบาย ๆ แวะรับประทานอาหารและเข้าห้องสุขากันบ้าง กว่าจะถึงลำพูนก็เป็นเวลาบ่าย ๔  โมงเศษ ๆ วัดแห่งแรกที่เราได้เข้าไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ก็คือ วัดพระธาตุหริภุญชัย พอไปถึงก็เร่งรีบถ่ายรูปกันยกใหญ่เลย วัดนี้มีสิ่งก่อสร้างสวยงามหลายอย่าง น่าสนใจมาก องค์พระธาตุเจดีย์มีลักษณะกลมเป็นทองเหลืองอร่ามทั้งองค์  พวกเราได้สวดมนต์ถวายพระเจดีย์ เดินเวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ๓ รอบ เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาและสังฆบูชา เสร็จแล้วก็ทำบุญทำทานตามตู้ต่าง ๆ  แล้วแต่ศรัทธา
.......ไปที่วัดไหน ๆ เราก็จะไม่ลืมเขียนชื่อนามสกุล ติดไว้ที่ผ้าคลุมองค์พระเจดีย์ ซึ่งที่วัดแต่ละแห่จะมีเตรียมไว้เปลี่ยนทุกปี จะมีการเขียนชื่อผู้ที่ไปทำบุญ ลงบนผืนผ้า โดยให้ญาติโยมเขียนกันเอง ไปวัดไหนก็เขียนกันทุกครั้งไม่ยอมสละสิทธิ์ ไหน ๆ มาทั้งที


ความรู้เกี่ยวกับวัดพระธาตุหริภุญชัย
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จ.ลำพูน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวล้านนาไทย เพราะว่าวัดนี้มีความสำคัญมากที่สุดของ จ.ลำพูน....ชื่อของวัดนี้มาจากชื่อเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพุทธกาล ได้แวะรับและฉันลูกสมอที่ชาวลั๊วนำมาถวาย ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า "หริภุญชัย

วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ท้้งหมด ๒๗ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองหริภุญชัย เรื่อยมาจนกระทั่งมาเป็น จ.ลำพูนในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีประเพณีโบราณที่ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปีแล้ว....มีผู้กล่าวกันว่า ถ้าใครมาถึงลำพูน แต่ยังไม่ได้ไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ถือว่ายังมาไม่ถึงลำพูน...

ประวัติย่อ....พระอาทิตยราชเป็นผู้สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อสำหรับประดิษฐ์พระบรมสารีริกธาตุ อันมีธาตุส่วนกระหม่อม พระธาตุส่วนกระดูกอก พระธาตุส่วนกระดูกนิ้วมือและพระธาตุส่วนย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง  ตามพุทธทำนายลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่ามีลักษณะเป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวารเข้า-ออกทะลุกันได้ทั้ง ๔ ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐานพระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพญาสรรสิทธิ์กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ ได้ทรงโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิม ที่พญาอาทิตยราชได้ทรงสร้างไว้ และได้ขุดช่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้ง ๔ ด้าน เพื่อความปลอดภัย ส่วนรูปทรงสัญฐานขององค์พระบรมธาตุนั้นคงไว้เช่นเดิม....เมื่อพญามังรายตีเมืองหริภุญชัยได้แล้ว ได้โปรดให้มีการซ่อมแซมและดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ เป็นทรงแบบลังกา  ในสมัยพระเจ้าแสนเมือง ราว พ.ศ. ๑๙๕๑ ได้โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ...พ.ศ.๑๙๙๐ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์สำคัญ แห่งเมืองเชียงใหม่ ได้ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ต่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเห็น ๙๒ ศอก กว้างยาว ๕๒ ศอก ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้


บริเวณรอบนอกองค์พระธาตุเจดีย์
ด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย
พระประธานในพระอุโบสถ
หลวงพ่อทันใจ

ความงามอีกมุมหนึ่งของพระธาตุหริภุญชัย