วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ชมและนมัสการพระธาตุพนม

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ฉันได้พาท่านผู้อ่านไปชมวัดพระธาตุถึง ๓ วัดแล้ว ท่านเห็นภาพพระเจดีย์สวย ๆ แล้ว ก็คงจะรู้สึกโสมนัสยินดีเช่นกันนะคะ  ขณะนั้นจิตเป็นกุศลจิต.....คราวนี้ฉันก็จะพาท่านไปนมัสการและชมภาพพระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุที่สวยมาก ๆ สวยกว่าพระธาตุเจดีย์อื่น ๆ ที่เคยเห็นมา

ในวันเดียวกันนั้น หลังจากที่เราได้ไปนมัสการพระธาตุท่าอุเทนเสร็จแล้ว  ก็ได้เดินทางต่อไปยังอำเภอเรณูนคร เพื่อจะไปนมัสการพระธาตุเรณูนคร แต่ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวันไปแล้ว เรารู้สึกว่าท้องร้องหิวตาม ๆ กัน จึงบอกให้คนขับรถพาไปหาร้านอาหารที่อร่อย ๆ  รับประทานกันก่อน แล้วจึงค่อยไปนมัสการพระธาตุเรณูนคร  คนขับรถเสนอแนะว่า ที่เรณูนครมีขนมจีนทำสด ๆ มีชื่อมาก ใครมาเรณูนครแล้วไม่ได้กินขนมจีนสด ก็แสดงว่ายังไม่ถึงเรณูนคร  พอได้ยินว่าขนมจีนอร่อย เราก็เกิดกิเลสอยากจะชิมลิ้มรสตาม ๆ กัน วาดมโนภาพซะสวยหรู คงจะอร่อยเหาะเลยซินะ เป็นอันว่าเราตกลงกันเป็นเอกฉันท์ ว่าอาหารมื้อนี้คือขนมจีนน้ำยา คนขับรถเองก็ยังไม่เคยกินหรอกนะ แกสารภาพว่า แกได้ยินเขาเล่าให้ฟังมาอีกต่อหนึ่ง  เข้าทำนองคำโบราณว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น"  เพราะฉะนั้นต้องไปพิสูจน์ด้วยตนเอง ฉันและน้องสาวต่างก็ตื่นเต้นและดีใจจนน้ำลายไหล คิดว่าวันนี้คงจะมีวิบากทางลิ้นดี  คนขับรถก็ขับเข้าซอยนี้ออกซอยโน้น วนแล้ววนอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังไม่พบร้านขนมจีนสด ชักจะหายอยากกันซะแล้ว คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ชิมลิ้มรสขนมจีนเรณูนครแน่ ๆ เลย  คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคนขับรถเจอร้านขนมจีนสดจนได้  ที่ไหนได้ขับผ่านไปตั้งสองรอบ แต่มองไม่เห็น พอรถจอดข้างถนนตรงข้ามหน้าร้านเสร็จเรียบร้อย  เราก็รีบรี่เข้าไปในร้านทันที  พอเข้าไปถึงก็ตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะว่าที่คิดมโนภาพไว้อย่างสวยหรูนั้นน่ะ  มันคนละเรื่องเลยจ๊ะ เห็นเขายืนนวดยืนบีบยืนจับเส้นขนมจีนสด ๆ กันอย่างสนุกสนาน ก็น่าชมดีหรอก  เพราะไม่เหมือนใคร ในร้านมีโต๊ะและม้านั่งให้นั่งกันแบบลูกทุ่ง คือนั่งแบบสบาย ๆ บนโต๊ะก็มีถ้วยน้ำยาขนมจีนหลายชนิด ให้เลือกได้ตามชอบใจ  เราถามเขาว่ามีน้ำยาอะไรบ้าง เขาบอกว่ามีน้ำยากะปิ และก็น้ำยาอะไรอีกหลายอย่าง ฉันก็จำไม่ได้แล้ว เพราะว่าได้ยินชื่อน้ำยากะปิก็หายหิวแล้ว  ไม่มีน้ำยาที่เรารู้จักสักชนิด เป็นอันว่างานนี้ผิดหวังอย่างแรง  ต้องเปลี่ยนรายการใหม่ ให้คนขับรถหาร้านอาหารแบบไทย ๆ ที่อยู่แถว ๆ หน้าแม่น้ำโขง แถวหน้าแม่น้ำโขงมีร้านอาหารให้เลือกเยอะแยะไปหมด ไม่ทราบจะเลือกร้านไหนดี ปรกติเราจะสังเกตว่าร้านไหนอร่อยจะต้องมีรถจอดหน้าร้านเยอะมาก  แต่คราวนี้ข้อสังเกตอันนี้ใช้ไม่ได้ซะแล้ว ก็ใช้วิธีเสี่ยงดวงก็แล้วกัน เราสั่งอาหารที่ทำไม่ยากจะได้อร่อยถูกใจทุกคน เช่น ต้มยำกุ้ง ปลาเนื้ออ่อนทอด ไข่เจียวหมูสับ แค่นี้ก็อร่อยเหาะแล้ว เมนูนี้ใครจะจำเอาไปใช้ก็ได้ ไม่หวงหรอกจ๊ะ

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ก็เป็นเวลาเกือบบ่าย ๒ โมง  เรามัวแต่เสียเวลากับการหาสถานที่กิน เลยทำให้เวลาสำหรับที่จะไปนมัสการพระธาตุเรณูนครหายไป  รายการนมัสการพระธาตุเรณูนครนี้ ที่จริงแล้วเป็นรายการแถม เพราะว่าคนขับรถแนะนำให้ และว่าจะพาไปที่นั่นถ้ามีเวลา ในที่สุดเราก็ไม่มีเวลา ก็เพราะขนมจีนเป็นเหตุ  จากนั้นเราก็มุ่งหน้าสู่อำเภอพระธาตุพนมโดยด่วน เพราะว่าตามโปรแกรมของเรา หลังจากไปนมัสการพระธาตุพนมเสร็จแล้ว  เราจะต้องเดินทางต่อไป จ.มุกดาหาร แล้วพักค้างคืนที่นั่น ๑ คืน เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับปทุมธานีในวันรุ่งขึ้น........กว่าเราจะถึงวัดพระธาตุพนมก็เป็นเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงกว่า ๆ  พอเข้าเขตบริเวณวัดพระธาตุพนม รู้สึกว่าพวกเราตาสว่างตาม ๆ กัน ตลึงในความวิจิตรพิมัยขององค์พระธาตุเจดีย์ ตกแต่ประดับประดาและมีลวดลายที่องค์พระธาตุงดงามน่าดูมาก  ดูภาพรวม ๆ ทั้งวัดเป็นสีทองเหลืองอร่ามดูสว่างไปทั้งวัด ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็สวยงามไปหมด วันนั้นผู้คนไทย คนลาวและสวิสอีก ๑ คน (สามีฉันเอง) ได้ทยอยกันไปนมัสการ และเวียนเทียนถวายพระธาตุกัน รอบนอกเขตพระธาตุเจดีย์มีของขายมากมาย  พวกเราคิดว่าเขาเพิ่งจะเริ่มงานนมัสการพระธาตุประจำปีในวันนั้น แต่ปรากฏว่าเป็นวันแรกที่เขาเลิกงาน อย่างไรก็ตามผู้คนก็ยังพากันมานมัสการมากขึ้น ๆ จนรู้สึกว่าจะเดินไม่ค่อยสะดวกนัก ท่านที่ยังไม่เคยไปก็เชิญชมรูปภาพไปก่อนนะคะ  เป็นการสร้างความศรัทธาก่อน เมื่อมีกำลังศรัทธาแรงกล้า สักวันก็จะต้องได้ไปเห็น และได้ไปนมัสการของจริงของแท้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน  ฉันเองก็ยังอยากจะไปอีกเลย ภาคอีสานเป็นภาคที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ สำหรับฉัน ได้ไปเห็นด้วยตนเองมาแล้ว รู้สึกประทับใจหลาย ๆ อย่าง การเดินทางก็สะดวก ถนนหนทางสายเอเซีย หรือสายทางหลวงสะดวกมาก บ้านเมืองเขาก็สะอาดและร่มรื่น ที่เรณูนครเป็นอำเภอที่ร่มรื่นและสวยงามมาก ตามถนนมีต้นไม้ให้ร่มเงาสองข้างทาง หน้าบ้านทุกบ้านมีถังขยะ ซึ่งทำจากยางลูกล้อรถยนต์เก่า ๆ  นำมาประดิษฐ์เป็นถังใส่ขยะมีฝาปิดเรียบร้อย ตั้งไว้หน้าบ้านก็ไม่น่าเกลียด ใครอยากรู้ก็ไปดูเองจะดีกว่านะ นี่เพียงแค่เห็นแบบผ่าน ๆ  ถ้ามีเวลามากก็คงจะประทับใจกว่านี้หลายเท่า.....ต่อไปนี้ก็ขอเชิญชมภาพสวย ๆจ๊ะ




องค์พระธาตุพนม

วัดพระธาตุพนม

ซุ้มประตูด้านหน้า

มุมพระธาตุพนมจำลองสำหรับไว้ปิดทอง

เดินเวียนเทียนถวายพระธาตุพนม
ประวัติย่อพระธาตุพนม...พระธาตุพนมเป็นพุทธเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุระของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ริมฝั่งแม่น้ำโขงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สูงจากระดับพื้นดิน ๕๗ เมตร ฉัตรเป็นทองคำบริสุทธิ์ หนัก ๑๖ กิโลกรัม มีเพชรประดับ ๒๐๐ เม็ด....

มีตำนานกล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตบูรกำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่  มีพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ องค์ และเจ้าพญาทั้ง ๕ โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานการก่อสร้าง ในยุคแรกใช้อิฐดิบ ก่อขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุก ภายหลังสูง ๘ เมตร ได้มีการเสริมสร้างในยุคต่อมาโดยลำดับ คือ

ยุคโบราณ ก่อนประวัติศาสตร์ในราว พ.ศ.๕๐๐ บูรณะโดยพระอรหันต์ ๕ องค์ และพญาสุมิตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนคร การบูรณะยุคนี้ ใช้อิฐสุกก่อให้สูงขึ้นไปอีก สร้างประตูปิดและสร้างกำแพงรอบองค์พระธาตุ แล้วทำพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุใหม่ สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๔.๗๐ เมตร ในยุคนี้พระธาตุพนมสูงประมาณ ๒๔ เมตร

ยุคไทยล้านช้าง อุปถัมภ์ พ.ศ.๒๑๕๗ บูรณะโดยพระยาพิชิตราชธานีศรีโคตบูร แห่งเมืองศรีโคตบูรใหม่ ได้โบกสะทายตีนพระธาตุ และสร้างกำแพงรอบชั้นที่ ๒   ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ บูรณะโดยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระที่มีชื่อเสียงแห่งนครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยชาวเวียงจันทน จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ ครอบครัว ได้สร้างเสริมพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ จนถึงยอดซึ่งมีความสูง ๔๗ เมตร หุ้มยอดด้วยเหล็กเปียก ทองแดงและสำริด ตอนปลายสุดเป็นปมมีรู สำหรับปักฉัตร ส่วนฉัตรทำด้วยทองคำฝั่งพลอย และนิลหัวแหวนโดยรอบประมาณ ๓๐๐ เม็ด แกนดังฉัตรเป็นเหล็ก ก้านฉัตรเป็นเงินฝั่งพลอยทุกด้าน ในยุคนี้ พระธาตุพนมสูง ๔๓ เมตร ฉัตรสูง ๔ เมตร รวมเป็น ๔๗ เมตร

ยุคไทยสยาม อุปถัมภ์ พ.ศ.๒๔๔๔ พระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด) วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เป็นประธาน ได้บูรณะพระธาตุโดยได้โบกปูนใหม่ ลงรักปิดทอง ส่วนบนประดับแก้ว ติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองหุ้มยอด ปูลานพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นในและชั้นกลาง

         พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ กรมศิลปากรไทยได้สร้างเสริมครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไป ๑๐ เมตร ในยุคนี้พระธาตุสูง ๕๓ เมตร ฉัตรสูง ๔ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร

         พ.ศ.๒๕๑๘ องค์พระธาตุพนมได้พังทลายลงไปทางทิศตะวันออกทั้งองค์ ทับวัตถุก่อสร้างซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเสียหายยับเยิน

        ในศกนี้ได้พบพระอุรังคธาตุบรรจุอยู่ในผอบแก้ว ซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ มีจำนวน ๘ องค์
   
        พ.ศ.๒๕๑๙ ได้สร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ โดยสร้างครอบฐานองค์เดิม รูปทรงคล้ายองค์เดิมทุกประการ แต่เล็กกว่าองค์เดิมเล็กน้อย ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๔ ปี จึงแล้วเสร็จบริบูรณ์

        วันที่ ๒๑-๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ รัฐบาลได้จัดราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุและยกฉัตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จมาบรรจุพระอุรังคธาตุ

        พระธาตุพนมองค์ใหม่หนักประมาณ ๒,๓๐๐ ตัน สร้างด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธในยุคปัจจุบัน สิ้นเงินในการก่อสร้างทั้งหมด ๑๔,๔๗๒,๙๕๗.๔๙ บาท งบประมาณแผ่นดิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

คำบูชาพระธาตุพนม
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฎฐิมายะ อุปริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ

คำไหว้ฉัตรทองคำ
สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 ....................................................................................................................................